Search

คิดแบบคน "ไอคอนคราฟต์" ดึงมรดกภูมิปัญญาชุมชนสู่ Glocal - ประชาชาติธุรกิจ

cezhentertainment.blogspot.com
ไอคอนคราฟต์-ไอคอนสยาม

“เพราะเราต้องการให้สยามพิวรรธน์เป็นองค์กรที่สร้างคุณค่าต่อผู้คน ชุมชน สังคม และประเทศชาติ และเราไม่ได้ทำกิจกรรมเพื่อสังคมเป็นครั้งคราว แต่มุ่งปลูกฝังการสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ผู้อื่นในวงกว้าง โดยให้เข้าไปอยู่ในการดำเนินธุรกิจทุก ๆ วันของเรา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง”

คำพูดเบื้องต้นเป็นคำกล่าวของ“ชฎาทิพ จูตระกูล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ ที่สะท้อนตัวตนและความคิดของเธอเป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับก้าวต่อไปในการดำเนินธุรกิจทั้งระบบ ยิ่งเฉพาะกับไอคอนคราฟต์ พื้นที่แห่งแรงบันดาลใจที่มีการนำเสนองานนวัตศิลป์ และงานคราฟต์แบบร่วมสมัยกว่า 500 แบรนด์ ที่ล้วนเกิดจากการส่งเสริม และเชิดชูช่างฝีมือไทยให้ก้าวไกลไปสู่เวทีโลก

ด้วยการเปิดโอกาสให้ช่างฝีมือไทยแสดงความสามารถ และเพิ่มคุณค่าในผลงานตนเอง ในการนำงานคราฟต์ทั้ง 7 หมู่ ประกอบด้วย งานคราฟต์ของช่างเขียน, ช่างปั้น, ช่างไม้, งานอาหารไทย, งานแพทย์แผนไทย,ช่างโลหะ และช่างทอ มาพัฒนาต่อยอดในการออกแบบดีไซน์ เพื่อให้เกิดวิถีใหม่ของการดำรงชีวิต เพื่อความยั่งยืนบน 2 แนวทาง คือ

หนึ่ง การร่วมกันสร้างสรรค์(cocreation)

สอง การสร้างคุณค่าสมประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย (creating shared values)

โดยอยู่ภายใต้วิสัยทัศน์ของกลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ ที่ต้องการเป็นผู้นำความคิดสร้างสรรค์ที่ล้ำสมัยและผู้นำแห่งการนำเสนอสิ่งแปลกใหม่ให้ชีวิต

แต่การที่จะเดินทางไปสู่วิถีใหม่ของการดำรงชีวิตเพื่อความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “Local Craft Hero to Global Icon” จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้าง “คนรุ่นใหม่” เข้ามาเสริมทัพ ผู้บริหารเพื่อขับเคลื่อนองค์กร และการแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจอยู่เสมอ

ผลเช่นนี้ จึงทำให้เกิดทีม “นักพัฒนาและสร้างสรรค์เสริมทัพผู้บริหาร” เพื่อสร้างธุรกิจรีเทลใหม่ของกลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ ที่อยู่ภายใต้การกำกับและดูแลของ “ชฎาทิพ จูตระกูล” โดยตรง เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ไม่เพียงเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ หากยังเป็นกลุ่มคนที่มีประสบการณ์หลากหลายที่พร้อมจะมาขับเคลื่อนงานหัตถศิลป์ของไอคอนคราฟต์ ที่อยู่บริเวณชั้น 4 และชั้น 5 ไอคอนสยาม และบริเวณชั้น 3 สยามดิสคัฟเวอรี่ เพื่อเป็นจุดหมายปลายทางที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มาชื่นชมงานคราฟต์ของประเทศไทย

ที่ไม่เพียงจะมี ปารีสา จาตนิลพันธ์, อมร มงคลแก้สุกล, ชลีกุล อิศรภักดี หากยังมี อมัจจ์ สมบูรณ์เจริญ และสุทธิรัตน์ แก้วอาภรณ อยู่ภายในทีมด้วย

เบื้องต้น “ปารีสา” เล่าให้ฟังถึงภารกิจ และงานที่ทำอยู่ให้ฟังว่าbusiness model ที่ทำอยู่ คิดว่าเราต้องต่อยอด และต้องสร้างความเท่าเทียมที่สำคัญ จะต้องสร้างประโยชน์ให้ส่วนรวม และสังคมทุกระดับ เพราะงานของเราต้องทำให้คนไทยชื่นชม ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งของการทำ cocreation ใน business model ของเราด้วย อย่างร้านค้าที่ทำตอนนี้ชัดเจนมากเลยคือ ไอคอนคราฟต์ที่เรานำเรื่องของcocreation shared values มาใช้กับผู้ประกอบการทั้งหมด ซึ่งตรงกับกลยุทธ์ขององค์กร

“ที่สำคัญ ทีมของเราโชคดีที่บริษัทเปิดโอกาสให้ทุกคนพัฒนาศักยภาพของตัวเอง เพราะจากโจทย์ขององค์กรที่ต้องการต่อยอด หรือขับเคลื่อนการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ และการสร้างช่องทางใหม่ ๆ เพื่อผลักดันสินค้าให้เกิดสิ่งใหม่ และตอบโจทย์คนรุ่นใหม่จริง ๆ ซึ่งจากการทำงานที่ผ่านมาไม่ว่าจะกับภาคธุรกิจ และกลุ่มคนต่าง ๆทำให้รู้สึกว่าเราเหมือนนักพัฒนาที่มีการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ที่จะสร้างสรรค์สังคมให้ต่อยอด และอยู่ได้อย่างยั่งยืน เพราะทีมของเรามีไม่ต่ำกว่า 20 คน”

ในประเด็นเดียวกันนี้ “อมร”เสริมขึ้นว่า การทำธุรกิจในปัจจุบันต้องสร้างความแตกต่างในการสร้างร้านต่าง ๆ ขึ้นมาให้มีคอนเซ็ปต์ชัดเจน และลงลึกในแต่ละด้านด้วย ยกตัวอย่าง ไอคอนคราฟต์ หลัก ๆ เลยเราต้องมีความรู้เรื่องของงานคราฟต์ และงานที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรมของไทยรวมถึงงานที่เกี่ยวข้องกับชุมชนทั่วประเทศด้วย

“เรามีลูกทีมวิ่งในโปรเจ็กต์ต่าง ๆ เพราะเขามีความรู้เบื้องต้นอยู่แล้วในงานคราฟต์ ไม่ว่าจะเรื่องความเป็นไทย ศิลปะงานดีไซน์ ฯลฯ ขณะที่เราเองต้องลงไปคุยกับชุมชน และลงไปทำรีเสิร์ชเพื่อดูรากเหง้าวัฒนธรรมของเขาว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง เพื่อนำมาต่อยอดในการทำร้าน และออกแบบสินค้า ซึ่งคือโมเดลของ cocreation นั่นเอง พูดง่าย ๆ ว่าการทำงานไม่ว่าด้านไหน เราต้องลงไปทำงานกับตัวจริงในงานด้านนั้น ๆ ถึงจะได้ข้อมูลจริง”

ถึงตรงนี้จึงตั้งคำถามปลายเปิดเพื่อให้ทุกคนตอบในเรื่องของการนำทีมและความรับผิดชอบของแต่ละคน ซึ่ง “ปารีสา” ตอบก่อนว่า เราแบ่งงานเป็นกลุ่ม ๆ อย่างกลุ่มบริหารสินค้า จะต้องลงลึกลงไปในรายละเอียด และจะต้องมีความรู้เรื่องการบริหารสินค้าอย่างดี ต่อจากนั้นจะมีกลุ่มสร้างสรรค์ พวกนี้ต้องคิดให้ตรงกับโจทย์ และกลุ่มแบรนดิ้งซึ่งคนกลุ่มนี้ต้องทำงานให้ตรงกับโจทย์เช่นเดียวกัน

“พูดง่าย ๆ ทุกกลุ่มล้วนตอบโจทย์ทุกภาคส่วน รวมไปถึงน้อง ๆ ที่ทำงานร่วมกับ พี.อาร์. คอมมิวนิเคชั่น และมาร์เก็ตติ้งด้วย ดังนั้น ถ้าทุกอย่างไม่ไปในทิศทางเดียวกัน ข้อความที่ออกมาจะสะเปะสะปะ เราจึงต้องโฟกัส และเวลาทำงานเราจะรวมกลุ่มกันทำงาน และโฟกัสในเรื่องนั้น ๆ ทุกคนจะแยกย้ายกันไปทำงานของเขา หรือหาข้อมูลของเขา จากนั้นเมื่อได้ข้อมูลมาทั้งหมด ทุกคนจะกลับมารวมกันเพื่อทำให้เรื่องราวต่าง ๆ ที่เราทำสื่อสารออกไปอย่างชัดเจน ทั้งนั้นเพื่อสร้างสรรค์ความคิดใหม่ที่แตกต่างออกมา”

“อมร” บอกว่า อย่างตัวผมเองอยู่ในส่วนของแบรนดิ้งกับดีไซน์ เพราะเรียนจบสถาปัตย์ ก็จะมีความรู้ทางด้านนี้ และผมก็ทำเรื่องเดียวกันนี้กับ “อมัจจ์” ซึ่งเขาทำแบรนดิ้งโดยตรง หน้าที่ของเราจะเป็นผู้สร้างวิชั่น วิชั่นในแต่ละงานเพื่อให้ตอบโจทย์กับทางร้าน และเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจอย่างง่าย ๆ ดังนั้น ภาพที่ออกไปจะต้องใช่ ตั้งแต่สี, การทำโลโก้ใหม่ พูดง่าย ๆ คือ เราสื่อสารรูป รส กลิ่น เสียง ออกไปเพื่อให้ลูกค้าเข้าใจ และรู้เลยว่าทำร้านนี้เพื่ออะไร ทำออกมาแล้วต้องการสื่อสารอะไร และผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร

“ฉะนั้น การสร้างไอคอนคราฟต์ และเวลาเลือกดีไซเนอร์ กราฟิกจะต้องเลือกที่มีความเป็นไทยด้วย ซึ่งน้อง ๆ ที่อยู่ในทีมของเราที่วาดภาพก็จะเป็นคนรุ่นใหม่ที่ประยุกต์ลายไทยออกมาให้เป็นกราฟิกที่เป็นโมเดิร์นด้วย ซึ่งผมกับอมัจจ์จะบรีฟว่า พวกเราต้องการแบบนี้นะ ไม่ใช่ลายไทยธรรมดา ๆ นะ แต่ต้องเป็นลายไทยโมเดิร์น น้องที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ (กราฟิก) จะเอาไอเดียนี้ไปพัฒนาต่อ อันนี้คือแค่โลโก้ แต่พอถึงองค์รวมของตัวร้าน เราก็นำสีสัน หรืออะไรที่ออกแบบหยอดเข้าไปในส่วนต่าง ๆ ของร้าน เพื่อให้เกิดบรรยากาศเดียวกันกับแบรนดิ้งที่เราต้องการ”

“เพราะเราต้องนำความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนาให้คนไทยเข้าใจ และช่วยสนับสนุนด้วย ที่สำคัญ จะต้องเชิดชูเรื่อง textile support thai creativity and craftmentship ตรงนี้คือโจทย์ของไอคอนคราฟต์ ที่สำคัญ ทำอย่างไรถึงจะให้ลูกค้าหยิบสินค้าไทยขึ้นมาสักชิ้นหนึ่งแล้วรู้สึกภูมิใจ รู้สึกอยากใช้ และรู้สึกว่าคนไทยเก่งจังเลยนะ สิ่งเหล่านี้คือกระบวนการคิดเบื้องต้นว่า เราต้องออกแบบร้านอย่างไร เลือกสินค้าอย่างไร และต้องสื่อสารออกมาอย่างไรถึงจะทำให้คนรู้สึกว่า อยากจะใช้ของไทยในแบบง่าย ๆ”

“อมัจจ์” เสริมในประเด็นนี้ว่า กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ ใช้วิสัยทัศน์ว่า The Icon of Innovative Lifestyle ซึ่งเวลาเราพูดถึงอินโนเวทีฟ เรามักนึกถึงนวัตกรรมที่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่นวัตกรรมของเราคือทางไอเดีย และภายในหน่วยงานของเราที่มีอยู่ 20 กว่าคน จะช่วยกันออกความคิด ทุกคนมีความสามารถและมีประสบการณ์แตกต่างกัน เพราะว่าพวกเราทำงานกันเป็นทีม

“ดังนั้น เวลาเราทำงาน ผมกับพี่อมรจะเป็น 1 ในทีมแบรนดิ้งที่คิดคอนเซ็ปต์ออกมาก่อน เพื่ออยากให้มีภาพออกมาว่างานจะเป็นอย่างไร แต่เราก็ทำงานกับทีมอื่น ๆ ที่เป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ด้วย เพื่อออกไอเดียความคิดว่าเรื่องนั้น ๆ จะเป็นไปได้ไหม จากนั้นถึงจะนำมาต่อจิ๊กซอว์ ดังนั้น ในมุมมองของผมเรื่อง creating shared values อยากจะบอกว่า เราไม่ได้สนับสนุน SMEs หรือสนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่ผลิตสินค้าอย่างเดียว แต่เราสนับสนุนทุกด้านในเชิงของแบรนดิ้ง เรามีหน้าที่ให้โอกาสคนรุ่นใหม่ออกแบบโลโก้ และสร้าง corporate identity ให้กับเรา ผมว่าเรื่องนี้ก็มีความสำคัญเช่นกัน”

ขณะที่ “สุทธิรัตน์” เสริมว่า จริง ๆ ผมเป็นหน่วยย่อยที่สุดของกลุ่ม เพราะเป็นงานเฉพาะทาง เฉพาะด้าน ผมมาจากสายอาร์ต เรียนประวัติศาสตร์ศิลปะ และเรียนมาทางมิวเซียม ผมจึงชัดเจนทางด้านนี้โดยตรง ฉะนั้น หน้าที่ของผมคือช่วยซัพพอร์ตทีม ด้วยการคิดหน่วยย่อยที่สุดของงาน เพื่อจะสร้างสรรค์ในสิ่งที่เรียกว่า แบรนดิ้ง จากเจ้าของโปรเจ็กต์ที่ให้การบ้านมา

“ผ่านมาผมโตอยู่ในตลาดของ nonprofit แต่ต้องมาทำงานในธุรกิจรีเทล ซึ่งต้องมาเรียนรู้งานออนฟลอร์ทั้งหมดในเรื่องของมาร์เก็ตติ้ง โดยสิ่งที่เราคิดในโจทย์หลัก ๆ คือ cocreation ซึ่งผมใช้ประสบการณ์ทางด้านมิวเซียม ด้วยการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน หรือการใช้ story telling มาเล่าเรื่องทางด้านวัฒนธรรมเพื่อให้เกิดมูลค่า แต่หลังจากที่มาทำงานกับทุกคนในทีม ผมทราบว่าทุกคนกลับสอนในเรื่องการสร้างคุณค่าที่ไม่เกี่ยวอะไรกับมูลค่าเลย เป็นการสร้างคุณค่าให้กับชุมชนต่าง ๆ ที่เราไปทำงานด้วย”

“ดังนั้น โจทย์ง่าย ๆ ของพี่ปารีสาคือ การทำให้งาน local สู่ global ฉะนั้น การทำงานของผมต่อจากนี้ไปจึงเป็นการทำงานแบบ glocal คือผสมผสานระหว่าง local และ global เข้าด้วยกัน ฉะนั้น ไอคอนคราฟต์ที่ไอคอนสยาม จริง ๆ ไม่ใช่แค่ศูนย์การค้า แต่เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของประเทศไทย ก็อย่างที่คุณแป๋ม (ชฎาทิพ จูตระกูล) บอก ไอคอนสยาม คือ world distination เพราะต่อไปในอนาคต ที่นี่จะมีมิวเซียมด้วย ดังนั้น พอลูกค้าเข้ามาที่ไอคอนคราฟต์ เขาจึงไม่ได้แค่สินค้าอย่างเดียว แต่เขาจะได้ความรู้ไปด้วย สิ่งเหล่านี้คือ ศาสตร์ และศิลป์ของการทำงานด้านศิลปวัฒนธรม”

แต่ในมุมมองของ “อมัจจ์” เขากลับขยายความเพิ่มเติมให้ฟังว่า ไอคอนคราฟต์มีพื้นที่ 2,500 ตารางเมตร มีแบรนด์ทั้งหมด 500 แบรนด์ และเรามีแบรนด์ที่มีชื่อเสียงมาก ๆ ขณะเดียวกัน เราก็มีแบรนด์ที่เริ่มใหม่ ฉะนั้น สิ่งที่เราต้องทำอย่างหนึ่งคือ การนำคนที่มีแบรนด์อยู่แล้วไปพยุงคนที่ยังไม่มีแบรนด์ เพราะจากประสบการณ์ ผมเห็นว่าเมื่อคนมีแบรนด์มาอยู่กับคนที่ไม่มีแบรนด์ จะทำให้สินค้าทั้ง 2 ส่วนขายดีมาก และสิ่งสำคัญที่สุดคือ การสื่อสารข้อความออกไปว่า สินค้าไทยเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงในบางประเภท แต่จะทำอย่างไรให้คนที่ซื้อสินค้ารู้สึกมีความพึงพอใจ และกลับมาเป็นลูกค้าของเราตลอดเวลา ที่สุดเราจึงค้นพบว่าการใช้ story telling น่าจะเกิดประโยชน์มากที่สุด

“เพราะภูมิปัญญาของชาวบ้าน และชุมชนเป็นมรดก และเรื่องราวของพวกเขาเอง โดยที่เราไม่ต้องทำอะไรเลยเราแค่นำมาเล่าผ่าน เพื่อสร้างคุณค่าที่สมประโยชน์กับทุกส่วน หรือ creating shared values และต่อไปในอนาคตแบรนด์เหล่านี้จะกลายเป็น brand distination ต่อไป จนทำให้ชาวบ้านในชุมชนเกิดความยั่งยืนในอนาคต”

ขณะที่มุมมองของ “ชลีกุล” ที่อยู่ในส่วนของการบริหารสินค้า ทั้งยังเคยทำงานทางด้านบริหารสินค้าแฟชั่นมากว่า20 ปี แต่เมื่อต้องกระโดดมาทำงานเกี่ยวกับการบริหารสินค้าประเภทงานคราฟต์เธอบอกว่าดิฉันต้องเรียนรู้งานใหม่ ทั้งหมดว่ารากดั้งเดิม พื้นฐานของงานคราฟต์คืออะไร

“เพราะการทำงานเกี่ยวข้องกับสินค้า, ชาวบ้าน, ผู้ประกอบการ SMEs และผู้ด้อยโอกาสทั่วไปนั้น เวลาเราลงไปทำงานกับพวกเขา นอกจากจะไปให้ความรู้ในการทำสินค้าให้กลมกล่อม หรือเล่าเรื่องได้ บางครั้งผู้ประกอบการอาจทำงานเป็นชิ้น มองภาพรายละเอียดของความต่อเนื่องไม่ได้ หน้าที่ของดิฉันจึงต้องบอกว่า ทำผลิตภัณฑ์ใบเล็ก,ใบใหญ่ ทำสีนั้นสีนี้ออกมา หรือวัตถุดิบที่เขาใช้ เราจะให้ความรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ลูกค้ามองหา หรืออะไรโดนใจกลุ่มลูกค้า ดิฉันจะให้ความรู้เขาในเรื่องเหล่านี้”

“แม้กระทั่งราคาขาย เราก็จะให้ความรู้เรื่องการคำนวณ เพราะบางครั้งผู้ประกอบการ SMEs อาจเป็นชาวบ้าน หรือชุมชน เขาไม่เข้าใจเรื่องการค้าขายในการนำสินค้ามาฝากขายที่ศูนย์การค้า เพราะเดิมทีเขาทำและขายอยู่ที่บ้าน หรือทำแล้วไปออกบูทขายตามศูนย์ราชการต่าง ๆ ไปจนถึงการวางขายในสถานที่ที่ไม่มีค่าใช้จ่าย เราจึงต้องอธิบายเขาให้ชัดเจน”

ผลตรงนี้จึงอดไม่ได้ที่จะถามต่อว่า แล้วเรามีวิธีทำให้เขาเชื่อใจเราได้อย่างไร ?

“ชลีกุล” จึงอธิบายต่อว่า ก่อนอื่นเราต้องเล่าให้เขาฟังว่า ศูนย์การค้าที่กรุงเทพฯมีเยอะแยะมากมาย และก็มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มองหาของแบบนี้อยู่ เพียงแต่ของแบบนี้ยังไม่ถูกพัฒนาในรูปแบบใหม่ ๆ หรือการให้สีใหม่ หรือการให้รูปลักษณ์ใหม่ตามความต้องการของคนกลุ่มใหม่ที่เขาต้องการ ดิฉันบอกเขาว่าแบบดั้งเดิมที่พวกเขาเคยทำ กลุ่มลูกค้าเขาซื้ออยู่แล้ว แต่แบบใหม่ ซึ่งเราก็ให้เขาดูรูป ดูแบบในเฟซบุ๊ก, ไอจี ว่าปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่เขาใช้ของแบบนี้เยอะมาก แล้วทำไมจึงไม่คิดพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ของตัวเองขึ้นมา เพื่อไปตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่บ้าง พอเขาเริ่มเห็น เขาก็เริ่มรู้สึกมั่นใจมากขึ้นที่อยากจะพัฒนาสินค้ามาขายกับเรา

“อมร” เสริมในประเด็นนี้ว่า จริง ๆ เรามีวิธีการเล่าเรื่องแบบคนรุ่นใหม่ด้วย ด้วยการใช้นวัตกรรมที่เราเรียนรู้อยู่ทุกวันมาปรับใช้ ยกตัวอย่าง สินค้าของ “ชลีกุล”จะมีป้ายคิวอาร์โค้ด 3 ภาษา (ไทย, จีน, อังกฤษ) ปรากฏอยู่ เพื่อให้ลูกค้ารู้ที่มาที่ไปของสินค้านั้น ๆ โดยเราจะเล่าเรื่องประมาณ 1 หน้ากระดาษทุกชิ้นและทุก ๆ แบรนด์

“หรือถ้าลูกค้าเดินมาที่สินค้า จะมีจอไอแพดเปิดวิดีโอเล่าเรื่องงานหัตถกรรมชิ้นนั้น ๆ ที่ช่างฝีมือกำลังทอผ้าอยู่ และวิดีโอเหล่านั้นพวกเราไปถ่ายกันเอง และนำกราฟิกมาช่วยเพื่อให้น่าสนใจยิ่งขึ้น เพื่อให้ตัวช่างเล่าเรื่องด้วยตัวของเขาเอง ซึ่งเริ่มตั้งแต่ภาพของชีวิตชนบททั่วไป จนถึงกว่าจะมาเป็นสินค้าชิ้นนี้ พูดง่าย ๆ ว่าเราใช้นวัตกรรมของคนรุ่นใหม่มาช่วยเล่าเรื่องของพวกเขา เพื่อให้เกิดมุมมองใหม่ขึ้นมา จนกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้าเข้าใจในคุณค่าของสินค้ามากขึ้น และเขาจะมีความภูมิใจที่ซื้อสินค้าชิ้นนั้นไป”

แต่การเดินทางไปสู่ “glocal” ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะมีความท้าทายซ่อนอยู่มากมาย ในประเด็นนี้ “ปารีสา” ยอมรับว่าจริง ๆ เป็นความท้าทายมาก เพราะการทำงานของเราเป็นการทำงานแบบปากต่อปาก เราเปิดไอคอนคราฟต์มา2 ปี ยอมรับว่าเราได้ผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าปากต่อปากเยอะมาก ขณะเดียวกันเราก็ได้ผู้ประกอบการที่ผันตัวเองมาเป็นproduct design, มาเป็น innovative craft design พอสมควร ดิฉันถึงกล้าพูดว่า ตอนนี้สิ่งที่เราทำเกิดขึ้นแล้ว และได้ผลจริง ๆ ด้วย

ในประเด็นเดียวกันนี้ “สุทธิรัตน์” จึงเสริมว่า ผมมองว่าทีมเป็น assetที่สำคัญมาก เพราะอย่างที่บอก ผมเป็นหน่วยย่อยที่สุดที่ create อะไรบางอย่างเพื่อให้เกิดมิติในไอคอนคราฟต์ เหมือนผมทำงานกับ “ชลีกุล” เราจะพบว่าสินค้าสวยอย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องมีเรื่องราวด้วย

ขณะที่ “อมร” บอกว่า การทำงานปัจจุบันสำหรับคนรุ่นใหม่ ไม่ชอบทำงานอยู่ในห้อง หรืออยู่ในกรอบ และพวกเรามีพลังที่อยากออกไปเรียนรู้งานข้างนอก เพราะการเรียนรู้ทำให้เรานำคุณค่าความหมายทางประวัติศาสตร์ หรือสิ่งที่รับทั้งหมดมาเสริมให้เข้ากับสิ่งที่เรากำลังทำ ผมว่าตรงนี้เป็นข้อดีที่เราใช้พลังออกไปเรียนรู้โลกภายนอก และนำความรู้กลับเข้ามา ผมจึงบอกว่า นี่คือความท้าทาย และความสนุกที่ออกไปข้างนอก เพื่อไปพบชาวบ้านกลุ่มใหม่ ๆ

แต่มุมมองของ “สุทธิรัตน์” บอกว่า มูลค่าของธุรกิจด้านคราฟต์ในตลาดมีสูงมาก อย่างกลุ่มที่เราไปเจอสามารถส่งออกผ้าได้เองปีละ 40 ล้านบาท หรือช่วงที่เราเจอโควิด-19 ชาวบ้านสามารถไลฟ์สดขายสินค้าได้เดือนละแสน หรือบางทีเราจัดงานคราฟต์ 1 วัน แต่เทียบกับของที่ชาวบ้านขายใน 1 เดือน ผมจึงมองว่าความท้าทายของงานหัตถกรรม-หัตถศิลป์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตจะต้องสร้างมูลค่า และคุณค่าไปเรื่อย ๆ เพราะเราทดลองแล้ว ทำจริงแล้ว และเราก็เอาประสบการณ์ของทุกคนปั้นขึ้นมาแล้วจริง ๆ

“ฉะนั้น สิ่งที่น่าสนใจต่อไปจึงเป็นความท้าทายของทีมแล้วว่า งานชิ้นต่อ ๆ ไปที่เราทำจะใส่ทั้งมูลค่า และคุณค่าเข้าไป จะไปได้อีกยาวไกลไหม เพราะจากเดิมสินค้าที่เคยอยู่ใต้ถุนบ้าน แต่พอเราดึงเขาเข้ามาอยู่ในไอคอนคราฟต์และเพิ่มมูลค่า และคุณค่าเข้าไป ต่อไปจะยังสำเร็จอีกหรือเปล่า ตรงนี้เป็นความท้าทายในระดับ glocal มาก ๆ”

ที่ไม่ธรรมดาเลยจริง ๆ

Let's block ads! (Why?)



"แบบดั้งเดิม" - Google News
August 22, 2020 at 10:31AM
https://ift.tt/3l4VQ8J

คิดแบบคน "ไอคอนคราฟต์" ดึงมรดกภูมิปัญญาชุมชนสู่ Glocal - ประชาชาติธุรกิจ
"แบบดั้งเดิม" - Google News
https://ift.tt/36f79nS


Bagikan Berita Ini

0 Response to "คิดแบบคน "ไอคอนคราฟต์" ดึงมรดกภูมิปัญญาชุมชนสู่ Glocal - ประชาชาติธุรกิจ"

Post a Comment

Powered by Blogger.