คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ศาสตราจารย์ได้รับเงินเดือนขั้นสูง (ศาสตราจารย์ 11) และผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจสถาบันบันฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)www.econ.nida.ac.th; piriya@nida.ac.th
ถ้ามีใครถามผมว่า สาขา (Sector) ใดที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด, มีความเสี่ยงที่จะล้มละลายมากที่สุด, และจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดสำหรับโลกอนาคตมากที่สุดนั้น ผมขอยกให้กับ“สถาบันอุดมศึกษา” เนื่องจากสถาบันอุดมศึกษา (หรือมหาวิทยาลัย) จะต้องเผชิญกับวิกฤตและความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ เรื่อง
ประการแรก ความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีที่เข้ามาปั่นป่วน (Disruption) ระบบการศึกษาแบบดั้งเดิม การเรียนการสอนแบบอาจารย์ยืนพูดหน้าชั้นเรียนจะลดลง และเพิ่มการสอนแบบออนไลน์ ที่ผู้เรียนสามารถโต้ตอบกับคนสอนแบบสด ๆ ได้ไม่ต่างกับการเข้าไปนั่งฟังในพื้นทีเดียวกัน
ประการที่สอง ความท้าทายจากทัศนคติของผู้เรียนที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยผู้เรียนอาจเห็นว่าการเรียนการสอนจากรั้วมหาวิทยาลัยอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไปเพราะเป็นการเรียนที่เสียเวลา ในเมื่อความรู้ปัจจุบันสามารถหาได้จากนอกห้องเรียน นอกจากนี้ ภาคธุรกิจที่จ้างงานเองก็เริ่มที่จะต้องการจ้างคนโดยวัดที่ “ทักษะ” เป็นสำคัญมากกว่าใบปริญญา ดังนั้นการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยจึงอาจเป็นเรื่องที่เสียเวลาสำหรับคนกลุ่มนี้
ประการที่สาม ความท้าทายจากการลดลงของโครงสร้างประชากรในวัยเด็กที่จะส่งผลทำให้จำนวนของเด็กที่จะเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยต้อง “น้อยลงตามธรรมชาติ” ซึ่งจะเห็นได้ชัดจากตัวเลข TCAS ในปีล่าสุดที่มีมหาวิทยาลัย/คณะจำนวนมากที่มี “จำนวนที่นั่งเหลือ” จากจำนวนที่สามารถรับได้จริง
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า “มหาวิทยาลัย” จะได้รับผลกระทบ ไม่ใช่แค่จากการมีเทคโนโลยีเข้ามาปั่นป่วน (Technology Disruption) แต่เพียงอย่างเดียวเหมือนสาขาอื่น ๆ (เช่น สื่อโทรทัศน์/วิทยุ/สิ่งพิมพ์ หรือสาขาการเงิน หรือการค้า) แต่ยังต้องประสบกับแนวโน้มของจำนวน “ลูกค้า” ที่ลดลง รวมไปถึงทัศนคติของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปจากแต่ก่อนด้วย
“คำว่าปลาเร็วกินปลาช้า” ดูจะเป็นคำยอดฮิตที่ใช้ได้ดีกับยุคสมัยนี้ เฉกเช่นเดียวกับการที่มหาวิทยาลัยเองก็จำเป็นต้อง “เร่ง” ปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คำถามก็คือว่า แล้วอนาคตของภาคอุดมศึกษาจะเป็นอย่างไร แล้วมหาวิทยาลัยของไทยควรที่จะต้องมีการปรับตัวอย่างไรได้บ้าง
ทั้งนี้ แน่นอนว่ามหาวิทยาลัยของไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัวในหลาย ๆ ด้าน โดยผมขอนำเสนอเป็น “กรอบแนวคิด”ของการปรับตัวตามตัวอักษะ 4 ตัว ซึ่งได้แก่ “A, B, C, และ D” ดังนี้
A – Accreditation (มหาวิทยาลัยที่จะอยู่รอดในอนาคตจะต้องได้รับความน่าเชื่อถือ)
เนื่องจากประเทศไทยจำเป็นต้องอยู่กับโลก และเด็กไทยจะต้องมีทักษะที่พร้อมจะเป็นหนึ่งในประชากรโลก (Global Citizen) ดังนั้นจึงเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่มหาวิทยาลัยไทยจะต้องยกระดับตัวเองไปสู่ “มาตรฐานในระดับโลก”ด้วยเช่นกัน เนื่องจากการมีมาตรฐานในระดับโลกนี้จะเป็นการสร้าง “ความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่น” ให้กับผู้บริโภค เฉกเช่นเดียวกับมาตรฐาน ISO ในภาคอุตสาหกรรม หรือมาตรฐาน HA ที่ต้องใช้สำหรับโรงพยาบาล โดยไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม แต่มหาวิทยาลัยที่จะอยู่รอดได้ในอนาคตจำเป็นต้อง “ไต่บันไดดวงดาว” ในการเข้าไปสู่การยกระดับตัวเองไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในระดับโลก (World-Class University) และอยู่ในระดับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก (World University Ranking)
ในการไต่บันไดดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่คณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยจะต้องได้รับการรับรองในระดับมาตรฐานสากล (International Accreditation) ซึ่งจะเป็นระดับที่สูงกว่าการรับรอง (แบบขั้นต่ำ) ในระดับชาติ ยกตัวอย่างเช่น คณะบริหารธุรกิจ (หรือ Business School) จะมีมาตรฐานรับรองที่ชื่อว่า AACSB (Association to Advance Collegiate Schools of Business) ซึ่งเป็นสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจและการบัญชีทั่วโลก ซึ่งการรับรองมาตรฐานโดย AACSB นี้จะเป็นเครื่องช่วยยืนยันว่า ผู้ที่จบมาจากสถาบันเหล่านั้นจะมีความรู้ที่ได้มาตรฐาน มีโอกาสได้รับการจ้างงาน และโอกาสที่จะเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกสูงมากยิ่งขึ้น อย่างที่ทราบว่ามหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่งทั่วโลกล้วนมีคณะบริหารธุรกิจและเปิดสอนในหลักสูตรยอดฮิตอย่างหลักสูตร MBA แทบทั้งสิ้น แต่กลับมีเพียงร้อยละ 5 ของทั้งหมดเท่านั้นที่ได้รับรองมาตรฐานนี้ ในขณะที่ในประเทศไทยเองก็มีเพียง 6 คณะ (4 มหาวิทยาลัย) เท่านั้นที่ได้รับมาตรฐาน AACSB นี้
หรือในกรณีของคณะการท่องเที่ยวที่มีสอนเกือบจะทุกมหาวิทยาลัยในประเทศไทย แต่คณะที่ได้รับมาตรฐานสากลอย่าง UNWTO.TedQual (Quality Assurance for Tourism Education, Training and Research Programmes) ซึ่งเป็นมาตรฐานจากองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations World Tourism Organization: UNWTO) ในประเทศไทยกลับมีแห่งเดียวเท่านั้นที่ได้รับมาตรฐานนี้
นอกจากนี้ยังมีมาตรฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอีกหลากหลายคณะ เช่น NASPAA สำหรับด้านรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ และนโยบายสาธารณะ, มาตรฐานด้านการแพทย์อย่าง Accreditation of Medical Education Institutions, มาตรฐาน ASpS สำหรับวิทยาศาสตร์การกีฬา, หรือมาตรฐานในระดับภูมิภาคอย่าง AUN-QA ก็เป็นอีกหนึ่งมาตรฐานในการยกระดับการศึกษาในระดับภูมิภาคด้วยเช่นกัน
การได้รับการรับรองในระดับสากลนี้จะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการ “พลิกโฉม” และ “ยกระดับ” มหาวิทยาลัยในการเข้าไปเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากต่างประเทศได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างร่วมมือในลักษณะต่าง ๆ กับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่มีชื่อเสียงในระดับโลก หรือการได้รับเงินทุนสนับสนุนจากหน่วยงานนานชาติ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นการสร้างคุณค่าหลัก (Core Value) ให้กับมหาวิทยาลัยในการอยู่รอดได้ในอนาคต
B- Bridging (มหาวิทยาลัยที่จะอยู่รอดในอนาคตจะต้องมีการทอดสะพานเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน)
จากบทความเดิมของผมที่เคยเขียนให้กับทางหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ที่มีชื่อว่า “ปัญหา Disconnect ของมหาวิทยาลัยไทย” (https://ift.tt/2QlQnML) ที่เปรียบเทียบมหาวิทยาลัยไว้ว่า “มหาวิทยาลัยเปรียบเสมือนเกาะแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่โดดเดี่ยว" โดย “ไม่ได้มีการเชื่อมต่อ” (Disconnect) อะไรกับใครเลย ทั้งการเชื่อมต่อกับตลาดแรงงาน การเชื่อมต่อในด้านการผลิตงานวิจัยที่จะสามารถไปใช้ประโยชน์ได้จริง การเชื่อมต่อระหว่างสถาบันอุดมศึกษาด้วยกัน การเชื่อมต่อกับสถาบันวิจัยและแหล่งทุนต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการเชื่อมต่อไปสู่โรงเรียนมัธยมศึกษาที่จะเป็น Input ที่จะต้องส่งเด็กมาเรียนต่อในรั้วมหาวิทยาลัย การไม่เชื่อมต่อนี้จึงทำให้มหาวิทยาลัยไม่ได้ทำหน้าที่พัฒนาคนและสร้างองค์ความรู้ที่จะช่วยในการพัฒนาประเทศได้มากเท่าที่ควร อันส่งผลให้มหาวิทยาลัยได้กลายเป็นองค์กรที่แน่นิ่งและเปลี่ยนแปลงยาก
ดังนั้นบทบาทของมหาวิทยาลัยที่จะอยู่รอดในอนาคตก็คือ มหาวิทยาลัยที่จะต้อง “สร้างสะพาน” (Bridging) เพื่อเชื่อมต่อไปยังทุกภาคส่วนให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาระบบสหกิจศึกษาซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการระหว่างการเรียนการสอนกับการทำงานอย่างเป็นระบบ (Work Integrated Learning : WIL) การร่วมมือกับรัฐบาลหรือหน่วยงานท้องถิ่นในการส่งมอบองค์ความรู้และเป็นตัวกลางในการประสานงานต่าง ๆ (System Integrator) การพัฒนาและยกระดับหน่วยงาน Technology Licensing Office (TLO) เพื่อช่วยในการส่งมอบงานวิจัยของมหาวิทยาลัยที่คนมักจะบอกว่า “ขึ้นหิ้ง” ถูกนำไป “ออกห้าง” (Commercialization) มากขึ้น การสร้าง Platform ความร่วมมือกับหน่วยงานผู้ให้ทุนทั้งในและต่างประเทศ การส่งเสริมให้ระบบ Talent Mobility Program ที่สนับสนุนให้อาจารย์สามารถลาไปปฏิบัติงานในภาคเอกชนได้ง่ายขึ้น การสร้างหลักสูตร/การทำงานร่วมระหว่างมหาวิทยาลัย (Inter-University Linkages) เช่น Exchange Program, Dual Degree, หรือ การฝึกอบรมร่วมกัน รวมไปถึงการให้การแนะแนว (หรือจัดกิจกรรมร่วม) แก่เด็กนักเรียนในชั้นมัธยมศึกษาเพื่อให้เด็กนักเรียนเข้าใจและสามารถเลือกเรียนในสาขาที่ตรงตามความถนัดของตนเอง และเป็นสาขาวิชาที่เด็กเลือกที่จะประกอบอาชีพนั้นจริง ๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังสามารถเชื่อมต่อจากการให้ใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยให้หน่วยงานภายนอกมาใช้ประโยชน์ได้ด้วยเช่นกัน เช่นการจัดทำ Co-Working Space เพื่อให้ผู้ประกอบการ Start-Up ใหม่ ๆ รวมถึง Freelance ได้เข้ามาใช้พื้นที่เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ร่วมกัน
ซึ่งกลยุทธ์นี้แสดงบทบาทของมหาวิทยาลัยที่นอกจากมหาวิทยาลัยจะต้องยกระดับเพื่อเป็น Internationalization (ตามข้อแรก) แล้ว แต่มหาวิทยาลัยยังจำเป็นต้องมีการเป็น Localization ไปด้วยในตัว
C- Customization (มหาวิทยาลัยที่จะอยู่รอดในอนาคตจะต้องจัดการศึกษาที่ตอบสนองต่อความต้องการของแต่ละบุคคลได้)
ระบบการศึกษาจะต้องเปลี่ยนจาก Education for All ไปสู่การเป็น Education for You นั่นก็คือการจัดระบบการศึกษาที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของ “คุณ” ได้ ไม่ว่าคุณจะต้องการเรียนแบบรวดเดียว 4 ปีเพื่อจะได้จบเร็วและได้รับใบปริญญาตามปกติ หรือคุณอยากจะเรียนสักพักและออกมาทำงานอีกสักพักและค่อยกลับไปเรียนใหม่ หรือคุณอยากเพียงเพื่อเรียนในหลักสูตรสั้น ๆ ในลักษณะของ Reskill/Upskill เพื่อต้องการความรู้บางอย่าง แต่อาจไม่ต้องการใบปริญญา หรือคุณเพียงต้องการเรียนเพื่อรู้เพราะต้องการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์เท่านั้น ซึ่งไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม การจัดระบบการศึกษาแบบ Education for You จะเป็นหาทางรอดสำหรับมหาวิทยาลัยในการเข้าถึงกลุ่มผู้เรียนใหม่ ๆ ในทุกเพศ ทุกวัย และทุกสาขาอาชีพ ซึ่งจะช่วยสร้างระบบการศึกษาสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-Long Learning) ได้
โลกในอนาคตต้องการทักษะที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก จากทักษะด้านองค์ความรู้แบบเฉพาะ (Specific Skill) ไปสู่ทักษะที่ต้องการบูรณาการข้ามศาสตร์ (Interdisciplinary) ยกตัวอย่างเช่นในการเรียนแพทย์ที่แต่เดิมอาจจะเรียนแค่วิชาทางการแพทย์เท่านั้น แต่ในการทำงานจริงแพทย์กลับต้องใช้ทักษะด้านอื่น ๆ เช่นทักษะการสื่อสาร (Communication Skill) และทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์ (Interpersonal skill) ในการติดต่อกับคนไข้ หรือในกรณีของวิศวกรที่แต่เดิมจะเรียนเฉพาะวิชาด้านวิศวกรรมศาสตร์อย่างเดียว แต่ในการทำงานจริงวิศวกรกลับต้องพึ่งพาทักษะในการบริการจัดการทีม (Team Management) เป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่อาชีพยอดฮิตในปัจจุบันอย่าง “นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) นอกจากจะต้องมีทักษะด้านคอมพิวเตอร์และสถิติแล้ว ยังต้องมีทักษะด้านการตลาดเพื่อเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคด้วยเช่นกัน
ดังนั้นในการส่งเสริมให้เกิดทักษะการบูรณาการข้ามศาสตร์ (Interdisciplinary) ดังกล่าว มหาวิทยาลัยในอนาคตจำเป็นต้อง “ลดบทบาทของการเป็นคณะ” ลงเพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนเฉพาะวิชาที่จำเป็นในการประกอบอาชีพนั้นจริง และให้โอกาสในการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ให้มากยิ่งขึ้น
D – Digital Transformation (มหาวิทยาลัยที่จะอยู่รอดในอนาคตจะต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีส่วนร่วม)
ถ้าในโลกอนาคตที่ดิจิทัลและเทคโนโลยีได้ถูกใช้ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในองค์กร (Digital Transformation) ในหลายภาคธุรกิจนั้น หน่วยงานประเภทการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยยิ่งจำเป็นต้องเร่งปรับองค์กรไปสู่การทำ Digital Transformation มากกว่าองค์กรประเภทอื่น ๆ แต่ทว่า จากงานศึกษาของ Educause (https://ift.tt/39sNLE8) พบว่า ในปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยทั่วโลกเพียงประมาณร้อยละ 13 เท่านั้นที่มีการทำ Digital Transformation ในขณะที่อีกร้อยละ 32 กำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนา ร้อยละ 38 อยู่ในช่วงของการสำรวจความเป็นไปได้ และร้อยละ 17 ที่ไม่มีการทำเลย ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่า ถ้ามหาวิทยาลัยของไทยที่ยังคงบริหารแบบราชการในระบบอนาล็อก (Analog) แบบเดิม ๆ ไม่เรียนรู้ที่จะปรับตัวแล้วนั้น สุดท้ายมหาวิทยาลัยเหล่านั้นก็คงไม่สามารถก้าวทันมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่ได้เร่งปรับตัวในเรื่องนี้ได้ เพราะการปรับตัวในเรื่องนี้จะไม่สามารถทำได้สำเร็จเพียงช่วงข้ามคืน แต่จะต้องใช้เวลาหลายปีถึงจะประสบผลสำเร็จ
ทั้งนี้ การทำ Digital Transformation ในรั้วมหาวิทยาลัยนี้ไม่ใช่เพียงการมีระบบการสอนออนไลน์หรือมีคอร์สออนไลน์เท่านั้น แต่เป็นการใช้ดิจิทัลเพื่อยกระดับมหาวิทยาลัยเพื่อก้าวไปสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ (Smart University)” โดยใช้ระบบดิจิทัลในการบริการจัดการมหาวิทยาลัยในด้านต่าง ๆ ให้เกิดประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น การใช้เทคโนโลยีที่ช่วยวิเคราะห์ในการประหยัดพลังงานในรั้วมหาวิทยาลัย การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) จากการใช้สถานที่ของบุคลากรและนักศึกษา การใช้ระบบ Internet of Things ในการช่วยสนับสนุนให้นักศึกษาใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยได้สะดวกขึ้น เช่น การลงทะเบียน การเข้าห้องสมุด การใช้โรงอาหาร หรือการใช้อุปกรณ์สถานที่ เป็นต้น การวิเคราะห์ข้อมูลในด้านการเดินทางของบุคคลากรและนักศึกษาเพื่อจัดระบบขนส่งในมหาวิทยาลัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือการใช้ระบบการใช้ระบบ Scan หรือ Face Recognition ในการเข้าออกสถานที่ต่าง ๆ เป็นต้น เนื่องจากมหาวิทยาลัยจะมีจำนวนนักศึกษาที่เกิดในยุคดิจิทัล ดังนั้นการปรับเปลี่ยนองค์กรไปสู่การเป็น Digital Transformation นี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นทั้งเพื่อลดต้นทุนในการบริการจัดการ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการในด้านต่าง ๆ
ทั้งหมดนี้ทำให้มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวทั้งในเรื่อง content และ process หากยังคงคิดแบบเดิม ๆ ทำงานกันแบบเดิม ๆ จะกลายเป็นอาจารย์ หลักสูตร คณะ หรือมหาวิทยาลัยที่ Obsolete (ตกยุค/หมดความสำคัญ) นักคิดบางท่านเคยกล่าวว่า “อะไรที่เราหาได้จาก Internet เป็นสิ่งที่ไม่มีความจำเป็นต้องสอน” ก็คงไม่ต่างจากคำพูดที่ว่า “อาจารย์หรือมหาวิทยาลัยที่ทดแทนได้ด้วยความรู้จากที่อื่นก็ไม่จำเป็นต้องมี” โลกข้างหน้ามีความโหดร้ายกับ Sector นี้จริง ๆ….ถึงตอนนั้น “.อ่อนแอก็แพ้ไป” จะเป็นคำพูดที่น่ากลัวมาก ๆ ครับ
"แบบดั้งเดิม" - Google News
August 25, 2020 at 08:38AM
https://ift.tt/32i3uUK
“กลยุทธ์ ABCD” เพื่ออนาคต (การอยู่รอด) ของมหาวิทยาลัยไทย - โพสต์ทูเดย์
"แบบดั้งเดิม" - Google News
https://ift.tt/36f79nS
Bagikan Berita Ini
0 Response to "“กลยุทธ์ ABCD” เพื่ออนาคต (การอยู่รอด) ของมหาวิทยาลัยไทย - โพสต์ทูเดย์"
Post a Comment