Search

สงครามโลกครั้งที่ 2 : สหภาพโซเวียตมีบทบาทอย่างไรที่เร่งให้ญี่ปุ่นยอมแพ้ - บีบีซีไทย

cezhentertainment.blogspot.com
  • เผด็จ ขำเลิศสกุล
  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติ สหราชอาณาจักร

นายมาโมรุ ชิเกมิตสึ รมว.ต่างประเทศของญี่ปุ่น ลงนามในตราสารแห่งการยอมจำนน (Japanese Instrument of Surrender) ในนามของรัฐบาลญี่ปุ่น บนเรือรบยูเอสเอส มิสซูรี ของสหรัฐฯ ที่จอดอยู่ในอ่าวโตเกียว เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 1945

09.00 น. ของวันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน 1945 ที่อ่าวโตเกียว บนเรือรบ มิสซูรี (USS Missouri) ของสหรัฐฯ นายมาโมรุ ชิเกมิตสึ รมว. ต่างประเทศ ของญี่ปุ่นได้ลงนามในตราสารแห่งการยอมจำนน (Japanese Instrument of Surrender) ในนามของรัฐบาลญี่ปุ่น

การลงนามมีขึ้นท่ามกลางผู้แทนจากฝ่ายสัมพันธมิตร โดยมีนายพลดักลาส แม็กอาร์เธอร์ ผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐฯ ในแปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้และผู้บัญชาการทหารสูงสุดของฝ่ายสัมพันธมิตร ลงนามยอมรับการยอมจำนนในนามของฝ่ายสัมพันธมิตร

การลงนามครั้งนี้ ถึงเป็นการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ

นายพลดักลาส แม็กอาร์เธอร์ ผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐฯ ในแปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้และผู้บัญชาการทหารสูงสุดของฝ่ายสัมพันธมิตร ลงนามยอมรับการยอมจำนนในนามของฝ่ายสัมพันธมิตร การลงนามครั้งนี้ ถึงเป็นการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 1945

ผ่านไป 75 ปี มีการถกเถียงกันมากมายเกี่ยวกับสิ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง การเล่าเรื่องแบบดั้งเดิม (traditional narrative) บอกว่า การทิ้งระเบิดปรมาณู 2 ลูก เป็นสาเหตุของการยอมแพ้ของญี่ปุ่น ในขณะที่นักประวัติศาสตร์แนวชำระใหม่ (revisionist historians) แย้งว่าญี่ปุ่นพร้อมยอมแพ้ก่อนที่จะมีการทิ้งระเบิดปรมาณู อย่างไรก็ตามในบทความนี้ผู้เขียนจะไม่ขออธิบายถึงข้อถกเถียงระหว่างทั้งสองค่าย แต่ผู้เขียนต้องการจะเน้นบทบาทสำคัญของสหภาพโซเวียตที่มีต่อการยุติสงครามโลกครั้งที่สอง

สงครามในตะวันออกไกล

สงครามโลกครั้งที่สองในตะวันออกไกลเริ่มต้นขึ้นเมื่อญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเรืออเมริกันที่เพิร์ลฮาร์เบอร์เมื่อเช้าวันที่ 7 ธันวาคม 1941 การโจมตีครั้งนี้ทำให้สหรัฐฯ เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองอย่างเป็นทางการในวันรุ่งขึ้น

ในช่วงแรกของ "สงครามมหาเอเชียบูรพา" นี้ ประเทศไทยและอาณานิคมของอังกฤษ ได้แก่ มลายู ฮ่องกง พม่า ถูกกองทัพญี่ปุ่นบุกเข้ายึดครอง จนเวลาผ่านไป 6 เดือน สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรกลับมาได้เปรียบ หลังสร้างความเสียหายมากมายให้กองเรือญี่ปุ่นใน "สมรภูมิมิดเวย์" ช่วงต้นเดือนมิถุนายน 1942 และต่อมาในช่วงครึ่งแรกของปี 1945 โอกินาวาได้ตกอยู่ในมือของสหรัฐอเมริกา ซึ่งต่อมาก็ถูกใช้เป็นฐานสำหรับการบุกของพันธมิตรที่เกาะญี่ปุ่น จุดจบของสงครามแปซิฟิกสิ้นสุดลงด้วยการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิเมื่อวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม 1945 ตามลำดับ

สนธิสัญญาความเป็นกลางของสหภาพโซเวียต

สหภาพโซเวียตมีความสนใจในตะวันออกไกลมานานก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วงทศวรรษที่ 1930 สหภาพโซเวียต และจักรวรรดิญี่ปุ่นต่างก็มองว่าตนเองเป็นมหาอำนาจที่มีความทะเยอทะยานในการที่จะขยายอาณาเขตของตัวเองออกไป

ต่อมาญี่ปุ่นรุกรานแมนจูเรีย และจัดตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดในแมนจูกัวในปี 1932 ความสัมพันธ์ระหว่างโซเวียตและญี่ปุ่นนั้นเสื่อมโทรมลงหลังจากที่ญี่ปุ่นลงนามกับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ของเยอรมนีในเดือนพฤศจิกายน 1936 ในสนธิสัญญาต่อต้านองค์การคอมมิวนิสต์สากล (Anti-Comintern Pact) ญี่ปุ่นหันมาให้ความสนใจทางทหารไปยังภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนที่มีพรมแดนติดกับสหภาพโซเวียตตะวันออกไกลและข้อพิพาทเกี่ยวกับแนวเขตแดนซึ่งนำไปสู่ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นกับสหภาพโซเวียต

ความขัดแย้งชายแดนสหภาพโซเวียต - ญี่ปุ่นยาวนานจนถึงปี 1939 เมื่อยุทธการฮาลฮิน กอล (Battle of Khalkhin Gol) ซึ่งเป็นการสู้รบอย่างดุเดือดจากข้อพิพาทชายแดนโซเวียต-ญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลให้ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ ในเวลาเดียวกันเยอรมนีได้เริ่มบุกฝรั่งเศสและกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ (เบลเยียม-เนเธอร์แลนด์-ลักเซมเบิร์ก) และขยายอำนาจในยุโรป สหภาพโซเวียตซึ่งไม่ต้องการเผชิญหน้ากับสองแนวรบ จึงได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาความเป็นกลางของโซเวียต - ญี่ปุ่น เมื่อ 13 เมษายน 1941

สนธิสัญญาความเป็นกลางระหว่างโซเวียต - ญี่ปุ่น นี้ เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ เนื่องจากญี่ปุ่นสามารถขยายตัวทางทิศใต้และเริ่มการรุกรานอาณานิคมยุโรปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยไม่ต้องพะวงต่อการโจมตีจากโซเวียต และในทำนองเดียวกันการที่สนธิสัญญาไม่รุกรานต่อกันก็ทำให้โซเวียตสามารถย้ายกองกำลังขนาดใหญ่จากภูมิภาคตะวันออกไกลไปยังแนวรบด้านตะวันตกเพื่อต่อต้านกองทัพของเยอรมนี

การโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์

ไม่กี่วันหลังกองกำลังพิเศษทางอากาศกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่น (Imperial Japanese Navy Air Service - IJNAS) โจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามเกลี้ยกล่อมให้สหภาพโซเวียตร่วมมือกันต่อสู้กับญี่ปุ่นโดยนายคอร์เดลล์ ฮัลล์ รมว. ต่างประเทศของสหรัฐฯ หารือกับนายแม็กซิม ลิตวินอฟ เอกอัครราชทูตสหภาพโซเวียตในกรุงวอชิงตัน โดยอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ของเขาว่า ญี่ปุ่นมุ่งมั่นในการโจมตีรัสเซียและประเทศอื่น ๆ ที่ต่อสู้กับเยอรมนีเมื่อใดก็ตามที่ฮิตเลอร์เรียกร้อง

เอกสารของรัฐบาลอังกฤษที่เก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุฯ หมายเลข CAB 79/21/37 ระบุว่า คณะอนุกรรมการวางแผนร่วม หรือ Joint Planning Staff (JPS) แจ้งต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสงครามของอังกฤษ ว่าได้รับรายงานจากแหล่งข่าวที่ไม่เป็นทางการว่า "ญี่ปุ่นกำลังเสริมกำลังทหารในภาคเหนือของจีนทางด้านแมนจูเรีย" แต่ก็ไม่เป็นที่รู้ถึงความตั้งใจของญี่ปุ่นในการเคลื่อนไหวเหล่านี้ว่าจะเป็นข้อควรระวังหรือพวกเขากำลังเตรียมที่จะโจมตีรัสเซีย

แม้ว่ารายงานทั้งหมดเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นข้อมูลที่ไม่เพียงพอ แต่มันสะท้อนถึงเจตนาของรายงานที่อาจเป็นไปได้ว่า พันธมิตรจะส่งต่อข้อมูลไปยังสหภาพโซเวียตและหวังไว้สูงว่า มันจะชักนำให้สตาลินทำสงครามกับญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามสตาลินยังคงปฏิเสธการมีส่วนร่วมใด ๆ ในการทำสงครามกับญี่ปุ่นซึ่งเป็นที่เข้าใจในการที่จะหลีกเลี่ยงการทำสงครามสองแนวรบคือในเอเชียและยุโรป

ความสำคัญของสหภาพโซเวียต

แม้จะมีการปฏิเสธจากสหภาพโซเวียตเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการทำสงครามกับญี่ปุ่น แต่ JPS ตระหนักว่าไม่ช้าก็เร็วญี่ปุ่นจะพยายามกำจัดอันตรายของรัสเซียทันทีที่มีโอกาส คณะอนุกรรมการวางแผนร่วมประเมินเพิ่มเติมว่า การโจมตีโดยญี่ปุ่นต่อเส้นทางการเดินเรือของสหภาพโซเวียตจะเป็นอันตรายร้ายแรงต่อความพยายามของโซเวียตในการต่อต้านเยอรมนีในยุโรป

ดังนั้น JPS จึงได้จัดทำแผนสำหรับทำสงครามกับญี่ปุ่นในชื่อ "การเล็งเห็นความสำคัญในการทำสงครามต่อต้านญี่ปุ่น" (Appreciation of the War against Japan) ประกอบด้วย 5 หัวข้อซึ่งแต่ล่ะหัวข้อสามารถทำลายสมรรถนะของญี่ปุ่นในการทำสงคราม ซึ่ง 3 ใน 5 หัวข้อดังกล่าวนั้นต้องพึ่งการเข้าร่วมจากสหภาพโซเวียตเป็นอย่างมาก เนื่องจากสหภาพโซเวียตเป็นประเทศเดียวที่อยู่ใกล้กับตำแหน่งยุทธศาสตร์สำคัญของญี่ปุ่น และยังสามารถเคลื่อนย้ายทหารได้โดยง่ายไปสู่แมนจูกัว คาบสมุทรเกาหลีและจีนตอนเหนือด้วย และการที่สหภาพโซเวียตตั้งอยู่ใกล้ญี่ปุ่นก็เหมาะที่จะเป็นฐานปฏิบัติการของกองเรือดำน้ำสำหรับการปฏิบัติการใต้น้ำกับการขนส่งชายฝั่งทะเลของญี่ปุ่นและในทะเลเหลือง ดังนั้น JPS จึงสรุปว่าเพื่อที่จะเอาชนะญี่ปุ่น จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องให้สหภาพโซเวียตเข้าสู่สงคราม

รายงานของคณะอนุกรรมการวางแผนร่วม หรือ Joint Planning Staff (JPS)

การประชุมเตหะรานและยัลตา

หลังจากที่เยอรมนีพ่ายแพ้ในการรบที่สตาลินกราดเมื่อ กุมภาพันธ์ 1943 สตาลินเริ่มเสริมกองกำลังทหารโซเวียตในบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของจีน และในเดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกัน สตาลินแสดงสัญญาณของความเต็มใจที่จะเข้าร่วมในสงครามกับญี่ปุ่นโดยตกลงด้วยวาจาในการประชุมที่กรุงเตหะรานว่า หลังจากที่เยอรมนีพ่ายแพ้สงครามในแนวรบด้านตะวันตกจากนั้นโซเวียตจะเข้าร่วมเพื่อเอาชนะญี่ปุ่น

เอกสารเกี่ยวกับการประชุมเตหะราน

ในสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ 1945 ที่ยัลตาเมืองตากอากาศ ชายฝั่งทางใต้ของคาบสมุทรไครเมียมีการจัดประชุมครั้งที่สองของสามชาติใหญ่ คือ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และ สหภาพโซเวียต เพื่อหารือเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหลังสงครามของเยอรมนีและยุโรป ในการประชุมครั้งนี้ คำปฏิญาณที่สตาลินให้ไว้ที่เตหะรานได้รับการยืนยัน สตาลินตกลงว่าสหภาพโซเวียตจะเข้าสู่สงครามกับญี่ปุ่นสามเดือนหลังจากการยอมแพ้ของเยอรมนีและในทางกลับกันโซเวียตจะได้ดินแดนแมนจูเรียหลังจากการยอมแพ้ของญี่ปุ่น รวมถึงดินแดนทางตอนใต้ของ เกาะซาคาลิน (Sakhalin) และ หมู่เกาะคูริล (Kuril Islands) ซึ่งญี่ปุ่นได้ยึดครองหลังสงครามรัสเซีย - ญี่ปุ่นเมือปี 1904-1905 รวมทั้งการเช่าที่ท่าเรืออาร์เธอร์ เช่นเดียวกับการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของกิจการรถไฟแมนจูเรีย

แผนที่สถานการณ์ในมหาสมุทรแปซิฟิก

อย่างไรก็ตามไม่กี่เดือนหลังจากการประชุมที่ยัลตา สถานการณ์ของสงครามในมหาสมุทรแปซิฟิกเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นบวกต่อสหรัฐอเมริกา เช่นในเดือนมีนาคม 1945 นาวิกโยธินสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการยึดเกาะอิโวจิมาและเรือประจัญบานยามาโตะที่มีแสนยานุภาพมากที่สุดของญี่ปุ่นถูกยิงจมลงบริเวณหมู่เกาะริวกิว อีกทั้งการเปลี่ยนทัศนคติในการเข้าสู่สงครามกับญี่ปุ่นของสหภาพโซเวียต หลังการขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิดีสหรัฐฯ ของ แฮร์รี เอส ทรูแมน

ผู้นำฝ่ายสัมพันธมิตร จากซ้ายไปขวา วินสตัน เชอร์ชิลล์, แฮร์รี ทรูแมน และ โจเซฟ สตาลิน จับมือกัน ที่การประชุมพอตส์ดัม ในเยอรมนี เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 1945

ปฏิญญาพอตส์ดัม

การประชุมที่พอตส์ดัมระหว่าง 17 กรกฎาคม ถึง 2 สิงหาคม 1945 นั้นแตกต่างจากการประชุมที่ยัลตาก่อนหน้านี้ เนื่องด้วยเริ่มจากการพ่ายแพ้ของเยอรมนีและกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นเริ่มแตกสลายและสหรัฐอเมริกามีระเบิดปรมาณูอยู่ในกำมือ ทำให้สหรัฐอเมริกาเริ่มจะมีความคิดว่า การขอความรวมมือจากสหภาพโซเวียตอาจจะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป

ในระหว่างการประชุมเมื่อ 26 กรกฎาคม วินสตัน เชอร์ชิลล์ แฮร์รี เอส ทรูแมน และ เจียง ไคเช็ก ออกแถลงการณ์ ปฏิญญาพอตส์ดัม (Potsdam Declaration) ซึ่งระบุเงื่อนไขการยอมแพ้ของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองในเอเชีย แต่สตาลินไม่ได้ร่วมลงนามในปฏิญญา แม้เข้าร่วมการประชุม เนื่องจากสหภาพโซเวียตยังคงมีสนธิสัญญาเป็นกลางกับญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตามสองวันหลังจากการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและหนึ่งวันก่อนเกิดเหตุระเบิดที่เมืองนางาซากิ สหภาพโซเวียตได้ประกาศสงครามกับรัฐบาลญี่ปุ่น เมื่อ 8 สิงหาคม 1945 ข่าวนี้ได้สร้างความตระหนกต่อญี่ปุ่นเป็นอันมาก เนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่าสตาลินได้รับข้อความส่วนตัวจากจักรพรรดิญี่ปุ่นขอให้เขาเป็นตัวกลางระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ก่อนที่เขาจะออกจากมอสโกเพื่อที่จะมาร่วมการประชุมที่พอตส์ดัม แม้ประวัติศาสตร์ชาติตะวันตกเน้นบทบาทของระเบิดปรมาณูว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ญี่ปุ่นยอมจำนน แต่เอกสารญี่ปุ่นที่เพิ่งเปิดใหม่ก็ให้ความสำคัญของการประกาศสงครามของสหภาพโซเวียตว่า เป็นสาเหตุในการบังคับให้ญี่ปุ่นยอมจำนน

การประชุมพอตส์ดัม

หลังจากที่สหภาพโซเวียตประกาศสงคราม ในวันรุ่งขึ้นกองทัพโซเวียตก็เริ่มการบุกโจมตีพร้อมกันในแนวรบสามแนวไปทางทิศตะวันออก ทิศตะวันตกและทิศเหนือของแมนจูเรียและคาบสมุทรเกาหลี ในขณะเดียวกันโซเวียตก็ได้ยกพลขึ้นบกที่เกาะซาคาลิน และหมู่เกาะคูริล รวมถึงดินแดนทางเหนือของญี่ปุ่น โซเวียตต้องเผชิญกับการต่อต้านอย่างหนักจากญี่ปุ่น แต่ก็ประสบความสำเร็จในการควบคุมทั่วทั้งเกาะ ในคืนวันที่ 14 สิงหาคม 1945 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ส่งคำตอบขอยอมจำนนโดย เจมส์ ฟรานซิส เบิร์นส์ (James Francis Byrnes) รมว. ต่างประเทศ สหรัฐฯ ได้พิจารณาแล้วและถือว่าญี่ปุ่นยอมรับเงื่อนไขของปฏิญญาพอตส์ดัม

สำเนาข้อความประกาศยอมแพ้สงครามของลงนามโดย ชิโกโนริ โตโก รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 1945

เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันที่ 14 สิงหาคม ขณะที่สถานการณ์เลวร้ายลงจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ ได้ตรัสต่อคณะรัฐมนตรีในการประชุมว่า "สถานการณ์ทางทหารเปลี่ยนไปอย่างกะทันหัน สหภาพโซเวียตเข้าสู่สงครามกับเรา การโจมตีด้วยการฆ่าตัวตายไม่สามารถแข่งขันกับพลังของวิทยาศาสตร์ได้ ดังนั้นจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องยอมรับเงื่อนไขของพอตส์ดัม"

ในขณะที่จักรพรรดิฮิโรฮิโตะ ร่วมเข้าประชุมพร้อมกับคณะรัฐมนตรีของพระองค์อยู่น้้นได้เกิดความพยายามมีการก่อการรัฐประหารขึ้นนำโดยพันตรีเคนจิ ฮาตานากะ (Major Kenji Hatanaka) กลุ่มผู้ก่อการพยายามที่จะยึดพระราชวังเพื่อที่จะหยุดจักรพรรดิฮิโรฮิโตะประกาศยอมแพ้ แต่การรัฐประหารไม่ประสบผลสำเร็จ

ต่อมาในตอนเที่ยงของวันที่ 15 สิงหาคม เสียงของจักรพรรดิฮิโรฮิโตะได้ออกรายการวิทยุแห่งชาติเป็นครั้งแรก เพื่อประกาศการยอมแพ้ของญี่ปุ่น และนำไปสู่การลงนามในตราสารแห่งการยอมจำนน เมื่อ 2 ก.ย. 1945 ที่อ่าวโตเกียว บนเรือรบ มิสซูรี และนี่คือบทสรุปของสงครามในมหาสมุทรแปซิฟิกและการยุติสงครามโลกครั้งที่สองอย่างเป็นทางการ

เผด็จ ขำเลิศสกุล นักวิจัยประวัติศาสตร์ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แห่ง หอจดหมายเหตุแห่งชาติ สหราชอาณาจักร

Let's block ads! (Why?)



"แบบดั้งเดิม" - Google News
August 29, 2020 at 04:34PM
https://ift.tt/3jqWgVn

สงครามโลกครั้งที่ 2 : สหภาพโซเวียตมีบทบาทอย่างไรที่เร่งให้ญี่ปุ่นยอมแพ้ - บีบีซีไทย
"แบบดั้งเดิม" - Google News
https://ift.tt/36f79nS


Bagikan Berita Ini

0 Response to "สงครามโลกครั้งที่ 2 : สหภาพโซเวียตมีบทบาทอย่างไรที่เร่งให้ญี่ปุ่นยอมแพ้ - บีบีซีไทย"

Post a Comment

Powered by Blogger.