10 มิถุนายน 2563 | โดย ปิ่นอนงค์ ปานชื่น
43
ด้วยศรัทธาใน พระพิฆเนศ เทพเจ้าแห่งความสำเร็จ สันติ – หทัยรัตน์ พรมเพ็ชร จึงน้อมนำ “นาม”มาเป็นชื่อของแกลลอรีแสดงผลงานศิลปะเซรามิกรูปพระพิฆเนศในหลากหลายอิริยาบถ
ทันทีที่ก้าวเข้าไปในอาณาเขตของกะเณชา แกลลอรี ในตำบลเมืองเก่า สุโขทัย แทบจะไม่มีบริเวณใดที่ไม่ได้เห็นประติมากรรมรูปพระพิฆเนศประดิษฐานอยู่เลย
หทัยรัตน์ เล่าว่าแกลลอรีแห่งนี้เปิดมา 17 ปีแล้ว จากการร่วมแรงร่วมใจของเธอและสามี ซึ่งต้องการแยกออกมาทำงานจากสุเทพสังคะโลก เพื่อสร้างสรรค์งานในแนวร่วมสมัยมากขึ้น
“สันติเป็นลูกชายของคุณพ่อสุเทพ ซึ่งเป็นทายาทของคุณปู่แฟง ซึ่งเป็นผู้เริ่มต้นงานเครื่องปั้นดินเผา ปู่แฟงเป็นชาวนา ก็นำเอาดินท้องนามาปั้นเป็นตุ๊กตาแล้วเผาเป็นเครื่องปั้นดินเผาแบบไม่เคลือบ ภาษาสุโขทัยเรียกว่า ของแดง หรือ ของไม่เคลือบ
พอมาถึงรุ่นคุณพ่อสุเทพ มีการขุดเจอเศษถ้วยโบราณเก่าเยอะมาก คุณพ่อก็นำมาซ่อม พอซ่อมบ่อยเข้าก็เลยอยากจะปั้นสังคโลกเพื่อเป็นการอนุรักษ์ของดั้งเดิม
สันติเติบโตมากับพ่อ แต่อยากทำสังคโลกเป็นแนวใหม่ จึงศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องเซรามิกทั้งแบบตะวันตกและของญี่ปุ่น มาพัฒนารูปแบบและน้ำเคลือบจนได้สีเทอร์ควอยซ์ สีox blood (เลือดวัว) สีประกายเงิน ประกายทอง ด้วยเหตุนี้เราจึงแยกออกมาตั้งเป็นสตูดิโอใหม่” หทัยรัตน์ กล่าวถึงที่มาของ กะเณชา แกลลอรี่
“เราสองคนชอบช้างอยู่แล้ว เพราะว่าเราเรียนจบมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาด้วยกัน แต่เรียนมาทางด้านศึกษาศาสตร์ เพราะว่าพ่อแม่อยากให้เราเป็นครูกันทั้งคู่ พอตัดสินใจมาเปิดสตูดิโอเซรามิกด้วยกัน จะใช้ชื่อว่าอะไรดี บังเอิญไปเปิดหนังสือพบภาพพระพิฆเนศ และมีเขียนบรรยายว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความสำเร็จ เราก็สงสัยว่าจะเป็นจริงหรือเปล่า ก็เลยลองอธิษฐานขอให้ได้เงินมาสร้างสตูดิโอหลังนี้ เพราะว่าแรกๆทางครอบครัวไม่เห็นด้วย ไม่นานก็มีคนมาซื้องานของเราทั้งๆที่บ้านเราอยู่ในตรอกซอกซอยที่ไม่ได้มาง่ายๆ”
ด้วยความศรัทธาสองสามีภรรยาจึงนำชื่อ “กะเณชา” (Ganecha) มาตั้งเป็นชื่อแกลลอรี และสร้างสรรค์ผลงานเซรามิกรูปพระพิฆเนศปางต่างๆ ในรูปแบบเฉพาะตน
สันติกล่าวว่า “ชอบงานศิลปะมาตั้งแต่เด็กเพราะว่าพ่อมาทำมาก่อน แต่พอโตขึ้นชอบงานร่วมสมัยมากกว่า ชอบปั้นช้าง ชอบปั้นพระพิฆเนศ งานของผมจึงใส่ลักษณะของกล้ามเนื้อลงไป ผสานกับจินตนาการ โดยที่ยังมีความเชื่อมโยงกับอดีตอยู่”
นอกจากงานปั้นพระพิฆเนศแล้ว สันติ-หทัยรัตน์ ยังต่อยอดงานสังคโลกให้มีสีสันและรูปแบบที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วย เช่น จาน ชาม ถ้วยกาแฟ กรวยดริป (dripper) ช้อนกาแฟ เป็นต้น
“เราคิดว่าสังคโลกควรจะมีทั้งแบบที่ใช้เป็นของเก็บสะสม และของที่ใช้งานได้จริง เราออกแบบของให้เข้ากับชีวิตประจำวัน โดยมีลวดลายแบบดั้งเดิม เช่น ปลากาดำ สัญลักษณ์ของสุโขทัย ดอกบัว มาจัดวางองค์ประกอบใหม่ บางครั้งนำลวดลายเดิมมาตัดทอนลง แต่เอกลักษณ์ในรูปปลาของเราจะเป็นปลาระบายหน้าดำและเป็นปลาที่มีรอยยิ้ม เพราะว่าสุโขทัยเป็นเมืองรุ่งอรุณแห่งความสุข ปลาของเราจึงมีรอยยิ้มทุกตัว”หทัยรัตน์ อธิบาย
มาถึงแกลลอรีแห่งนี้แล้ว เราสามารถเดินชมห้องจัดแสดงงาน ห้องทำงานของทั้งสองคน รวมไปถึงห้องเรียนเล็กๆที่สวยงามที่จัดไว้ให้ผู้สนใจได้ลองเวิร์คช้อปวาดรูปลงบนจานสังคโลก หรืออยากจะลองปั้นดินเป็นรูปทรงต่างๆก็ได้ นับเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
ในช่วงเวลาผ่อนคลายนี้ กะเณชา แกลลอรี่ เปิดให้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน 10.00-16.00 น. โทร. 08 8293 5269 (หากสนใจเวิร์คช้อปกรุณานัดหมายล่วงหน้า)
"แบบดั้งเดิม" - Google News
June 10, 2020 at 05:00PM
https://ift.tt/2AS8J3B
กะเณชา แกลลอรี ศิลปะและศรัทธา - กรุงเทพธุรกิจ
"แบบดั้งเดิม" - Google News
https://ift.tt/36f79nS
Bagikan Berita Ini
0 Response to "กะเณชา แกลลอรี ศิลปะและศรัทธา - กรุงเทพธุรกิจ"
Post a Comment